ชนิดของกก
Carex เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายฤดู ลำต้นตั้งตรงเป็นสามเหลี่ยม บางชนิดมีไหลเลื้อยไปใต้ดิน ใบเรียวแคบช่อดอกมีทั้ง panicle, raceme และ spike มีดอกรวมหรือ spikelet ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) เพียงดอกเดียว หรือ spikelet เท่ากับ floret มีทั้งดอกที่มีก้านและไม่มีก้านดอก และไม่มีกลีบดอกส่วนดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ หรือมีเพศแยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกันและเกสรเพศผู้มี 3 อัน เนื่องจากกกมีลักษณะคล้ายหญ้า จึงทำให้มีผู้เรียกเป็นหญ้าด้วยแต่ความจริงแล้วน่าจะเรียกว่ากกมากกว่า ซึ่งจะได้แยกออกไปจากหญ้าได้บ้าง เช่น
1. หญ้าคมบาง (กกคมบาง) Carex baccans Nees
2. หญ้าคมบาง (กกคมบาง) Carex stramentita Boot
3. หญ้าคมบางเล็ก (กกคมบางเล็ก) Carex indica Linn.
4. หญ้าคมบางขาว (กกคมบางขาว) Carex cruciata Vahl
5. หญ้ากระทิง (กกกระทิง) Carex thailandica T. Koyama
6. หญ้าดอกดิน (กกดอกดิน) Carex tricephala boeck
สกุล Carex มีหลายชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่มีในเมืองไทย เช่น
1. Carex atherodes ในทวีปอเมริกาใช้ทำหญ้าแห้ง (hay)
2. Carex brizodies ในยุโรปใช้สานกระจาด กระเช้า
3. Carex dispalatha ในญี่ปุ่นใช้ทำหมวก
Cyperus
1. กกขนาก cyperus differmis L. เป็นวัชพืชในนาข้าวและพืชไร่ ลักษณะคล้ายกกทั่วไป แต่ที่สังเกตง่ายคือ ดอกมีขนาดเล็กจะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มคล้ายหัวกลมๆ
2. กกทรายหรือกกหัวแดง Cyperus iria เป็นวัชพืชพบในนาข้าวและพืชไร่เช่นเดียวกับกกขนาก ลักษณะที่เด่นของวัชพืชนี้คือรากมีสีแดงปนเหลือง ช่อดอกสีเหลืองกระจายกว้าง ใบประดับอันล่างสุดที่รองรับช่อดอกมีความยาวกว่าช่อดอก
กกชนิดอื่นที่เป็นวัชพืชยังมี เช่น
1. กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb)
2. กกนาCyperus haspan Linn.)
3. กกรังกา (Cyperus digitatus Roxb.)
4. กกรังกาป่า (Cyperus cuspidatus Kunth.)
5. กกลังกา (Cyperus alternifollius Linn.)
6. กกเล็ก (Cyperus pulcherrimus Willd. & Kunth)
กกบางชนิดที่ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรคได้ ได้แก่
1. กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb.)
2. กกสามเหลี่ยม (Cyperus malaccensis Lamk.) ใช้ไหล (rhizome) แก้โรคกระเพาะและแก้อาการท้องผูก
กกหลายชนิดที่ใช้เป็นอาหารได้แต่ไม่มีในเมืองไทย
Fimbristylis
เป็นไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียวและหลายฤดู มีไหลสั้นๆ ลำต้นตั้งตรงมีทั้งต้นกลมและเป็นเหลี่ยม ใบรวมกันอยู่ที่โคนต้น ช่อดอกเกิดที่ปลายต้นคล้ายสกุล Cyperus มีดอกรวม (spikelet) ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) ตั้งแต่หนึ่งถึงหลายดอกและเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศมีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน เกสรเพศเมียมี 2-3 แฉก กกสกุลนี้ป่วนมากเป็นวัชพืช พวกที่ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรค เช่น กกรัดเขียด (หญ้าหนวดแมว) (Fimbristylis milliaces Vall) และกกหัวขอ (หญ้าหัวขอ) (Fimbrilstylis aestivalis Vahl) ใช้ทาแผลงูกัดและแก้โรคผิวหนัง ตามลำดับ สำหรับพวกที่เป็นวัชพืชและพบบ่อยในนาข้าวและแปลงปลูกพืช เช่น กกเปลือกกระเทียมทราย (Fimbristylis acuminata Vahl) กกนิ้วหนู (Fimbristylis dichotoma Vahl) กกกุกหมู (Fimbristylis monostachyos Hassk.) เป็นต้น
Scirpus
เป็นไม้อายุฤดูเดียวและหลายฤดูมีไหลใต้ดิน ลำต้นตั้งตรงเป็นเหลี่ยมบางครั้งเกือบกลม บางชนิดจมอยู่ใต้ดินหรือลอยที่ผิวน้ำ ใบมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป บางครั้งก็ไม่มีช่อดอกเกิดที่ปลายต้นหรือบางครั้งเกิดที่ด้านข้างของลำต้นแต่ค่อนไปทางส่วนยอด ดอกรวม (spikelet) ประกอบด้วยหลายดอกย่อย (floret) และเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศมีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน และเกสรเพศเมีย 2-3 แฉก พวกที่เป็นวัชพืชและรู้จักกันดีคือ กกสามเหลี่ยมหรือกกตะกรับ (Scirpus grosus L.f) มีลำต้นตั้งตรงมีขนาดใหญ่และเป็นสามเหลี่ยม ผิวลำต้นเรียบเป็นมัน ช่อดอกเกิดที่ปลายต้น ในสมัยอินเดียโบราณใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และลำต้นใช้สานเสื่อและทำเชือกได้ ส่วนกกทรงกระเทียม (Scirpus articulatus Linn.) ใช้เป็นยาระบายหรือยาขับถ่าย อีกชนิดหนึ่งมีปลูกกันมากในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ กกกลมหรือกกยูนนาน (Scirpus mucronatus Linn.) ใช้ทำเชือกและสายเสื่อโดยเฉพาะมีลำต้นเกือบกลม ตั้งตรงมีความสูงกว่ากกกลมเล็กน้อย แต่ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ช่อดอกจะเกิดเป็นช่อกระจกทางด้านข้างของลำต้นและค่อนไปทางส่วนปลายต้น ช่อดอกเกิดจากจุดเดียวกันและกระจายออกไปรอบด้านเหมือนรูปดาว ชาวบ้านจะแยกไหลจากคอเดิมไปขยายพันธุ์และจะตัดเมื่อมีอายุราว 3 เดือน ก่อนที่ต้นจะออกดอกใช้เวลาตากแดด 4-5 วัน ในต่างประเทศ เช่น อเมริกาเหนือและใช้ลำต้นของ Scirpus lacustris สานทำกระจาดที่นั่ง และสานเสื่อ อีกชนิดหนึ่ง คือ Scirpus tatara ใช้ทำแพและเรือคานู (canoe) ส่วนในจีนและญี่ปุ่นใช้กินหัวของ Scirpus tuberosus ทั้งสามชนิดดังกล่าวไม่มีในบ้านเรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น